top of page

โครงการ บางกอกที่หายไป

ผู้ออกแบบ : นายพีรพล สุทธิมรรคผล

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นการมาถึงยุคของโลกเสมือน อาจส่งผลให้วิถีชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เดิมการที่ผู้คนต้องเข้ามากรุงเทพฯเพื่อประกอบอาชีพ อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีก ในยุคของโลกเสมือนการเชื่อมโยงกันของมนุษย์จะมีรูปแบบที่หลากหลาย เราสามารถเชื่อมโยงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีสถานที่มาเป็นตัวแปร ผู้คนจะกระจายไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมของตนเพื่อดำรงชีพในวิถีใหม่ ทำให้ความแออัดในกรุงเทพฯจะลดลง เหลือไว้แต่สิ่งที่จำเป็น(สถาปัตยกรรม)ต่อปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีพ(ปัจจัย 4)และซากอารยธรรมที่มนุษย์ก่อขึ้นในช่วงสมัยนึง(สถาปัตยกรรม)
เดิมกรุงเทพฯ เคยเป็นนครที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่งมากมายที่มีความสัมพันธุ์ที่สอดคล้องกับพืชพรรณท้องถิ่นและวิถีชีวิตริมแม่น้ำไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ แต่ทั้งหมดนี้ถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ที่พยายามทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองหลวงในแบบที่ตอบสนองความต้องการของตน ทำให้วิถีชีวิตหรือสรรพสิ่งต่างๆที่เคยร่วมอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯมลายและดับสูญไป
อนาคตเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาและเติบโตไปพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงของโลก สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากการใช้ทรัพยากรที่เกินควรจะส่งผลกระทบกับมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะกับกรุงเทพฯ ในอนาคตกรุงเทพฯถูกคาดว่าเป็นเมืองที่จะจมอยู่ใต้บาดาล ส่งผลให้มนุษย์มองหาแต่แนวทางป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตจริงๆแล้วเมืองแห่งนี้ถูกออกแบบมาเผื่อรองรับสิ่งนี้อยู่แล้ว เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่ผู้คนมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างกลมกลืน คำตอบของการแก้ปัญหานี้อาจจะไม่ใช่หาวิธีการป้องกัน แต่คือการหาวิธีอยู่ร่วมกับวิถีธรรมชาติเหมือนดังในอดีต
การปล่อยปรากฎการณ์ต่างๆเกิดขึ้นตามธรรมชาติในระดับผืนดินและมนุษย์ปรับพื้นที่การอยู่อาศัยให้สูงขึ้นใช้ประโยชน์ของการอยู่อาศัยในแนวดิ่งเพื่อไม่รบกวนระบบนิเวศน์ที่จะเกิดขึ้น ดั่งภูมิปัญญาการยกใต้ถุนสูงของบ้านไทยในสมัยก่อน การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมในยุคหน้าอาจจะเป็นแค่พื้นที่เชื่อมโยงความสัมพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับอาคารเก่าที่จะถูกปรับการใช้งานให้เข้ากับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ โดยการออกแบบจะถูกคำนึงถึงการใช้งานของสรรพสิ่งต่างๆที่อาศัยอยู่ในบริบทที่ไม่มีได้มีเพียงแค่มนุษย์ วิธีการนี้จะเป็นโอกาสให้ธรรมชาติ และสัตว์ท้องถิ่น ได้กลับมาอาศัย ร่วมสร้างระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่กรุงเทพฯอีกครั้ง

“CO EXIST WITH CO AREA” ในมุมมองของโครงการนี้จึงไม่ได้สนใจแค่การแชร์แค่พื้นที่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาเมืองในยุคก่อน แต่เป็นการพัฒนาเมืองในอีกรูปแบบที่คำนึงถึงการแชร์พื้นที่ระหว่างทุกสรรพสิ่งที่ดำรงชีพอยู่ในระบบนิเวศน์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน พึ่งพาอาศัยกันและกันและยั่งยืนสืบไป





bottom of page